วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กินอยู่อย่างไรให้มีสุข ในยุคของแพง



"ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงกลางปีภาวะราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เป็นผลสะท้อนและกระทบถึงตัวได้อย่างชัดเจนก็คือ ร้านข้าวแกงรวมถึงร้านอาหารริมทาง ที่ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นทิวแถว เป็นผลต่อเนื่องมายังผู้บริโภคที่ต้องแบกภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับบรรดาร้านค้าที่จำเป็นต้องเพิ่มราคา เหตุเพราะวัตถุดิบแพงและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

ทัศนีย์ แน่นอุดรผู้จัดการสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า การขึ้นราคาของอาหาร สาเหตุหนึ่งมาจากเรื่องความแปรปรวนของสภาพอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งส่งปัจจัยลบให้กับสินค้าหลายประเภท อย่างเช่น ข้าว ปาล์ม ฯลฯ และความจริงอีกประการที่มักมองข้ามคือ สินค้าเกษตรในไทยควรได้ราคาที่เป็นธรรมมากกว่าในปัจจุบัน แต่เนื่องจากกลไกตลาดที่ทำให้คนกลางเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดทำให้ผู้ปลูกก็ไม่ได้ราคา ผู้บริโภคก็ต้องรับภาระราคาสินค้าที่แพงขึ้น แต่คนกลางดูเหมือนจะไม่เดือดร้อนอะไร

ผู้บริโภคควรปรับตัวในการยอมรับให้ได้ว่า ราคาอาหารจะไม่ถูกอีกแล้ว ดังนั้นหากพอรับภาระไหวต้องเลือกซื้อสินค้าด้วยคุณภาพเป็นสำคัญ เช่น สินค้าทางเลือกทั้งหลาย สินค้าที่อุดหนุนเกษตรกรหรือผู้ผลิตโดยตรง หรือสินค้าในท้องถิ่นที่ใกล้บ้านไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย อาจต้องทำตัวเองให้เป็นมากกว่าผู้บริโภค คือ เป็นผู้ผลิตด้วยอาหารอะไรที่พอปลูกได้ ทำเองได้ ควรทำ เพื่อช่วยประหยัดในบางส่วน วางแผนการใช้จ่ายเงินในเรื่องอาหารเป็นสัปดาห์จะช่วยให้มองเห็นทางเลือกได้กว้างขึ้น

ขณะเดียวกัน ด้านผู้ประกอบการควรทำเมนูที่สร้างสรรค์มากขึ้น และอย่าเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป เพราะเมื่อสินค้าแพงขึ้น ทุกคนก็ขายแพงเหมือนกัน แต่ถ้าเห็นว่าร้านนี้แพง แต่ของคุณภาพดีกว่า ผู้บริโภคก็จะเลือกที่คุณภาพมากกว่าอนาคตราคาอาหารเป็นไปตามอุปสงค์อุปาทาน อย่าสร้างอุปาทานให้คนฉวยโอกาสมาเอาเปรียบได้ และมองว่า ของมีแต่จะแพงขึ้น!

สอดคล้องกับอย่างสามารถเก็บไว้ได้ถึงเมื่อไหร่ และควรนำสิ่งใดมาถนอมอาหารโดยยึดหลักคิดของคนสมัยก่อน ถือเป็นอีกสิ่งที่ต้องได้รับการเผยแพร่ให้สู่วงกว้างเพราะ คนสมัยนี้มีค่านิยมจะต้องกินให้หมดก่อนที่จะเน่าเสีย แต่ลืมกรรมวิธีการถนอมอาหารแบบสมัยก่อน

"ในมุมมองการนำวัตถุดิบอื่นมาใช้แทนวัตถุดิบที่มีราคาแพง บางอย่างสามารถนำมาแทนได้ในกรณีที่วัตถุดิบนั้นไม่มีกลิ่นหรือลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น เนื้อหมูแพงเอาเนื้อไก่มาแทนหรือนำเนื้อกุ้ง ปลาหมึกมาแทนได้ แต่ในวัตถุดิบที่มีลักษณะเฉพาะอย่างใบกะเพรา ที่ถ้าเราจะทำเมนูผัดกะเพราไม่สามารถนำใบอื่นมาแทนได้เนื่องจากมีกลิ่นและลักษณะเฉพาะตัวสูง ดังนั้นควรเปลี่ยนไปทำเมนูอื่น"

ด้านผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ควรจำกัดการปรับราคาในทุกเมนู แต่ควรมีการแยกประเภทว่าเมนูไหนที่ต้องใช้วัตถุดิบราคาแพงอาจปรับราคาขึ้น แต่เมนูไหนที่วัตถุดิบไม่แพงควรขายในราคาเดิม ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยลูกค้า ณัฐพงศ์ ธีรนันทพิชิตผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอบรมอาหารและเครื่องดื่ม โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต ที่มองว่าปัจจัยหนึ่งของการปรับราคาเป็นผลมาจากภาวะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่ผลที่กลับมาเกษตรกรยังไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับราคาอย่างสมน้ำสมเนื้อ หากมองการปรับตัวของรัฐที่มีการจำหน่ายสินค้าธงฟ้าซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้า เหมือนการนำปลามาให้คนกินมากกว่าจะสอนคนตกปลา เพราะปัจจัยของภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลกระทบต่อพืชผักเกิดตั้งแต่ต้นน้ำแต่ภาครัฐเองยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือระยะยาวเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว

ถ้ามองในภาวะของผู้ประกอบการร้านอาหารก็น่าเห็นใจ เพราะต้องแบกภาระค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าการขึ้นราคาสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรระดับล่างจะดีกว่านี้ เนื่องจากสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่คืออาชีพเกษตรกรไม่มีใครอยากเป็น เนื่องจากราคาผลผลิตได้ไม่ดี ซึ่งด้วยระบบของพ่อค้าคนกลางทำให้เกษตรกรไม่มีเงินที่จะไปพัฒนาการทำงานของตนเองด้วย

จากการขึ้นราคาของสินค้า ผู้บริโภคและผู้ประกอบการควรมีแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเน้นซื้อของตามฤดูกาลเพราะจะมีมากทำให้ราคาถูก และมีคุณภาพดี รวมถึงใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง และควรหาวัตถุดิบอื่นทดแทนในภาวะที่วัตถุดิบที่ใช้อยู่ราคาแพง เช่น หมูแพง ผู้ประกอบการสามารถนำไก่มาใช้แทนได้ ขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยยึดหลักอย่างคนโบราณที่เมื่อมีอาหารชนิดใดมากจะไม่กินให้หมดเพียงครั้งเดียว แต่จะกินพออิ่มแล้วเก็บส่วนที่เหลือไปถนอมอาหารเพื่อใช้กินในฤดูต่อไป

หากมีพื้นที่ในบ้านควรทำแปลงปลูกผักโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และวางแผนการถนอมอาหารเพราะถ้าร้านค้าปรับราคาทุกเมนูอาจทำให้ลูกค้าเริ่มหันไปกินร้านอื่น ขณะเดียวกันผู้บริโภคไม่ควรกินอาหารที่เป็นเมนูซ้ำๆ ทุกวัน เนื่องจากสารพิษในอาหารจะค่อยๆ สะสมและเป็นผลร้ายต่อตัวเอง

สำหรับผู้บริโภคที่ตุนอาหารในตู้เย็นหรือมีอาหารเหลือในตู้เย็นแล้วจะนำมาประกอบอาหารควรระมัดระวัง ซึ่งถ้ามีฉลากควรดูวันหมดอายุ และดูรูปทรงด้านกายภาพว่าเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยพอที่จะทานได้หรือไม่ ตลอดจนดมดูว่าวัตถุดิบนั้นมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวหรือไม่ ถ้ามีไม่ควรรับประทาน เพราะเมื่อทานเข้าไปแล้วอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจทำให้ราคาค่ายารักษาแพงกว่าการเสียเงินซื้อของเหล่านั้นใหม่

ในอนาคตวัตถุดิบอาหารไม่มีวี่แววว่าจะปรับราคาลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคควรใช้ชีวิตอย่างพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ขณะเดียวกันรัฐและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรเร่งเข้ามาดูปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำมากกว่ามานั่งแก้ที่ปลายน้ำ อย่างญี่ปุ่นร้านค้าที่ทำอาหารกับเกษตรกรผู้ปลูกมีการวางแผนร่วมกันว่าฤดูนี้ควรมีการเพาะปลูกและส่งให้เท่าไหร่ ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยเองควรเสาะหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกตามตลาดใหญ่ๆ ให้มากขึ้น

ราคาอาหารถือเป็นบทสะท้อนคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ไม่ต่างจากเกษตรกรผู้ผลิตที่แม้ราคาสินค้าจะถีบตัวสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตยังถือว่าไม่ได้งอกเงยมากกว่าเก่านัก จึงเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดในสังคมที่พ่อค้าคนกลางเป็นใหญ่ บนโครงสร้างสังคมเกษตรกรรมที่เกษตรกรและผู้บริโภคยังต้องก้มหน้ารับภาระอยู่เนืองๆ

"หากมีพื้นที่ในบ้านควรทำแปลงปลูกผักโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และวางแผนการถนอมอาหารว่าแต่ละอย่างสามารถเก็บไว้ได้ถึงเมื่อไหร่ และควรนำสิ่งใดมาถนอมอาหารโดยยึดหลักคิดของคนสมัยก่อน"

ฝึกอุปนิสัยการกิน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

รายจ่ายส่วนใหญ่ของครอบครัวมักจะใช้จ่าย ไปกับค่าอาหารมากกว่าอย่างอื่น การสร้างอุปนิสัยการกินอยู่อย่างประหยัด ไม่เพียงแต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังจะทำให้สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพดีด้วย โดยอ.สง่า ดามาพงษ์ ได้แนะนำการสร้างสุขนิสัยการกินอย่างได้ประโยชน์และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไว้เป็นแนวทางปฏิบัติพอสังเขป ดังนี้

1. กินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ และครบ 5 หมู่ การประหยัดโดยงดการกินอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งหรือกินไม่ครบ 5หมู่ จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ไม่ดี เจ็บป่วยบ่อย นั่นย่อมหมายถึงเราจะต้องเสียเงินเสียทองไปกับค่ายาและค่ารักษาซึ่งมีราคาแพง

2. เลือกซื้อ ผัก ผลไม้ไทยๆ โดยเฉพาะ ผักพื้นบ้าน แล้วให้ซื้อตามฤดูกาล เพราะไม่เพียงแต่ราคาถูกเท่านั้น ยังจะมีคุณค่าทางอาหารมากกว่า

3. กินอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ กินพอดีอิ่ม อย่ากินทิ้งกินขว้าง หากเหลือควรเก็บในที่ให้เหมาะสมสำหรับมื้อต่อไป

4. ควรกินอาหารไทยๆ เป็นประจำ หลีกเลี่ยงการกินอาหารต่างชาติราคาแพง เพราะอาหารไทยราคาถูกและให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีเหมาะสมสำหรับคนไทย การกินอาหารฝรั่งประจำไม่เพียงแต่จะฟุ่มเฟือยเท่านั้นแต่จะก่อให้เกิดโรคอ้วน เจ็บป่วยซึ่งตามมาด้วยค่ารักษา

5. หลีกเลี่ยงการกินอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะอาหารมื้อเย็นและในวันหยุด ควรหันมาปรุงอาหารกินเองในครอบครัว




ที่มา  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น